อุทยานแห่งชาติดอยจง
มียอดดอยจงเป็นดอยที่สูงสุด เคยเป็นสถานีโทรคมนาคมของกองทัพอากาศมาก่อน แต่หลังจากที่กองทัพอากาศสร้างสถานีเรดาร์ที่ยอดดอยอินทนนท์ สถานีที่นี่จึงได้ยกเลิกไป และอุทยานฯ ได้เข้ามาดูแลต่อโดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ทุกวันจากสันเขามองลงไปเห็นท้องนากว้างใหญ่ของอำเภอสบปราบ และอำเภอเกาะคา ทางงขึ้นกับทางลงเป็นคนละเส้นทางกัน ทางลงชันมากและพื้นที่เป็นก้อนกรวดเล็กๆ ขาขึ้นใช้เวลาเดินเท้านานกว่า 5 ชั่วโมง ทางลงจะผ่านสันป่าเกี๊ยะซึ่งมีต้นสนสองใบและสนสามใบขึ้นอยู่หนาแน่นกว่า บริเวณอื่น เหมาะที่จะค้างแรม
การเดินทางขึ้นยอดดอยจง
ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง เตรียมเสบียง เต็นท์ ถุงนอน และสัมภาระส่วนตัวไปเอง ควรใช้เวลาเดินขึ้น 2 วัน โดยคืนแรกพักที่สันป่าเกี๊ยะ ซึ่งเป็นป่าสนสองใบและสนสามใบ รุ่งเช้าเดินขึ้นยอดดอย คืนที่สองพักแรมบนยอดดอยจง แล้วเตรียมตัวกลับในช่วงสาย
บนสันเขาปกคลุมไปด้วยป่าก่อสลับต้นสนเป็นระยะพื้นล่างเต็มไปด้วยต้นกระเจียวที่ออกดอกสีชมพูในช่วงต้นฤดูฝน ดอกไม้อีกชนิดที่โดดเด่นและทางอุทยานฯ นำไปเป็นสัญลักษณ์ คือ กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยซึ่งดอกสีสวยสดกว่าแหล่งอื่นๆ ในประเทศ
ผากาน อยู่ห่างจากยอดดอยจงประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางดิ่งลงเขาตลอด เป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับดูนกเป็นผาหินปูนแหลมคมการปีนขึ้นต้องใช้ความระมัดระวัง บนผามองเห็นผืนป่าและทิวเขาทอดตัวยาวทางด้านหลังมองเห็นยอดดอยจงอยู่สูงกว่าระดับสายตา
จุดชมทิวทัศน์ป่าอาบ บริเวณสองข้างทางถนนสายเถิน-ลี้ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 13-26
น้ำตกแม่งาช้าง เป็นน้ำตกขนาดเล็กมีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝนสูงประมาณ 12 เมตรอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตรในท้องทตำบลนายาง อำเภอสบปราบ
น้ำตกตาดปู่หล้า เป็นน้ำตกขนาดเล็ก 2 ชั้น มีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ 1 กิโลเมตร ในท้องที่ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ
ผาช้าง อยู่ตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ เป็นภูเขาลูกเล็กๆ ริมอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยอง บนเขามองลงมาเห็นอ่างเก็บน้ำ ที่ทำการอุทยานฯ และทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง
นอกจากนี้ยังมีถ้ำและน้ำตกอื่นๆ ที่เพิ่งจะสำรวจพบแต่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เช่น น้ำตกห้วยค่าง ผายอง ถ้ำห้วยแดง ถ้ำก้นหอย และถ้ำแม่เก่ง
การเดินทาง
ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ตามทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 54 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอสบปราบ เลยไปประมาณ 500 เมตร มีทางเลี้ยวซ้ายตรงป้ายนาปราบ (หากมาจากลำปางทางเข้าจะอยู่ทางขวา ระหว่างกิโลเมตรที่ 549-550 ) เลี้ยวไปตามถนนคอนกรีตราว 7.5 กิโลเมตร จะมีป้ายของอุทยานฯ ให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 6 กิโลเมตร ถนนช่วงนี้เป็นทางลูกรังค่อนข้างสมบุกสมบัน ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อหรือรถปิกอัพ สุดถนนคือที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น