วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

ความสำคัญของเมืองละกอนในสมัยราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ.1839 - 2101)

ความสำคัญของเมืองละกอนในสมัยราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ.1839 - 2101)

เมื่อพระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ในปี พ.ศ.1839 แล้ว ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาครอบครองลำพูน และเมืองลคร (เขลางค์) กล่าวคือในพ.ศ. 1844 พระเจ้าเม็งรายโปรดให้ขุนคราม โอรส ยกกองทัพไปตีเมืองลำพูน พระยายีบาสู้ไม่ได้ จึงอพยพหนีมาพึ่ง พระยาเบิกพระอนุชาที่เมืองลคร (เขลางค์) กองทัพของพระเจ้าเม็งราย ซึ่งมีขุนครามเป็นแม่ทัพ ได้ยกติดตามมาประทะกับกองทัพของพระยาเบิก ที่ริมน้ำแม่ตาล ปรากฏว่าพระยาเบิก เสียชีวิตในการสู้รบ ส่วนพระยายีบาเจ้าเมืองลำพูน ได้พาครอบครัวหนีไปพึ่งเจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก ) ประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ จึงสิ้นวงศ์เจ้าผู้ครองเขลางค์ยุคแรก

ส่วนเรื่องราวในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ภายหลังจากที่พระเจ้าเม็งราย ได้รับชัยชนะ ต่อพระยาเบิกแล้ว ได้แต่งตั้งชาวมิลักขะเป็นเจ้าเมืองแทน เจ้าเมืองคนใหม่พยายามชักชวน ชาวเมืองเขลางค์ สร้างเมืองใหม่ ซึ่งกลายเป็นเมืองเขลางค์ยุค 2 หลังจากนี้ก็มีเจ้าผู้ครองนครซึ่งมียศเป็นหมื่น ปกครองสืบต่อกันมา เป็นเวลานาน จนกระทั่งสิ้นราชวงศ์เม็งราย พม่าก็แผ่อิทธิพลเข้ามาแทนที่ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง

เมืองนครลำปางเป็นหัวเมืองสำคัญของลานนาไทยมาจนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าแห่งหงสาวดี ได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองลานนาไทยใน พ.ศ. 2101 ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอำนาจของบุเรงนองยังปรากฏอยู่ทั่วไป ได้แก่ไม้แกะสลักรูปหงส์ประจำวัดต่าง ๆ (หมายถึงหงสาวดี) นับตั้งแต่นั้นมา นครลำปางตกอยู่ภายใต้อำนาจ ของพม่าเป็นเวลานานร่วม ๆ 200 ปีเศษ (พ.ศ.2101 - 2317) และบางครั้งก็อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา บ้างเช่น สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น